สิทธิ์ประโยชน์ที่ลูกจ้างต้องรู้

สิทธิ์ประโยชน์ที่ลูกจ้างต้องรู้

ในปัจจุบันทุกๆ คนต่างต้องออกไปทำงานเพื่อหาเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกันใช่มั้ยหล่ะครับ ซึ่งวิธีการหาเงินก็มีมากมายให้เราได้เลือกสรรเลือกทำกัน มีทั้งเป็นเจ้าของและเป็นพนักงาน ซึ่งในวันนี้เราจะพาทุกๆ ท่านไปกล่าวถึง “ลูกจ้าง” ที่คนส่วนใหญ่อยู่ในสถานะนี้กัน วันนี้เราเลยจะพาทุกๆ ท่านไปพบกับ “สิทธิ์ประโยชน์ที่ลูกจ้างต้องรู้” กันครับ จะมีอะไรบ้างนั้น…เราไปชมกันดีกว่าครับ

นิยามของคำว่า ลูกจ้าง

ลูกจ้าง หมายถึง ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้างไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” เป็นนิยามความหมายที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นอกจากนี้ศาลฎีกาได้มีแนวคำวินิจฉัยให้ความหมายของ “ลูกจ้าง” ไว้เพิ่มเติม ซึ่งพอจะสรุปความหมายโดยรวมของลูกจ้างได้ดังนี้

1. นายจ้างจะเป็นคนธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่ลูกจ้างจะต้องเป็นคนธรรมดาเท่านั้น นิติบุคคลจะเป็นลูกจ้างไม่ได้ หากเป็นสัญญาจ้างระหว่างนิติบุคคลกับนิติบุคคล ถือเป็นสัญญาจ้างบริการหรือสัญญาประเภทอื่น ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงานตามกฎหมายนี้

2. ลูกจ้างจะเรียกชื่อว่าอย่างไรก็ได้ เช่น พนักงาน, ผู้รับงาน, ผู้ร่วมประกอบกิจการ

3. ลูกจ้างหมายรวมทุกประเภท เช่น ลูกจ้างทดลองงาน  ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ  ลูกจ้างที่กำหนดเวลาจ้างไว้แน่นอนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ลูกจ้างทำงานไม่เต็มเวลา Part-time employee  ลูกจ้างสัญญาจ้างพิเศษ

4. ลูกจ้างดังกล่าวจะต้งออยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างด้วย หากมีอิสระ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งหรือระเบียบ ก็มิใช่ลูกจ้างตามกฎหมายนี้

สิทธิประโยชน์และหน้าที่ลูกจ้าง

●เวลาทำงานปกติ

งานทั่วไปไม่เกิน 8 ชม./วัน หรือตามที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกัน และไม่เกิน 48 ชม./สัปดาห์ งานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ได้แก่ งานที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือในที่อับอากาศ งานเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี งานเชื่อมโลหะ งานขนส่งวัตถุอันตราย งานผลิตสารเคมีอันตราย งานที่ต้องทำด้วยเครื่องมือ หรือเครื่องจักร ซึ่งผู้ทำได้รับความสั่นสะเทือนอันอาจเป็นอันตราย และงานที่ต้องทำเกี่ยวกับความร้อนจัดหรือความเย็นจัดอันอาจเป็นอันตราย ซึ่งโดยสภาพของงานมีความเสี่ยงอันตรายสูงหรือมีภาวะแวดล้อมในการทำงานเกิน มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ซึ่งไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขที่แหล่งกำเนิดได้ และต้องจัดให้มีการป้องกันที่ตัวบุคคล ให้มีเวลาทำงานปกติไม่เกิน 7 ชม./วัน และไม่เกิน 42 ชม./สัปดาห์

●เวลาพัก

ระหว่างการทำงานปกติ ไม่น้อยกว่า 1 ชม./วัน หลังจากลูกจ้างทำงานมาแล้วไม่เกิน 5 ชม. ติดต่อกันหรืออาจตกลงกันพักเป็นช่วงๆ ก็ได้แต่รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 1 ชม./วัน งานในร้านขายอาหารหรือร้านขายเครื่องดื่มซึ่งเปิดจำหน่ายหรือให้บริการในแต่ละวันไม่ติดต่อกันอาจพักเกิน 2 ชม./วันก็ได้ นายจ้างอาจจะไม่จัดเวลาพักได้กรณีเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปโดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างหรือเป็นงานฉุกเฉิน

ก่อนการทำงานล่วงเวลา กรณีให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาต่อจากเวลาทำงานปกติไม่น้อยกว่า 2 ชม. ต้องจัดให้ลูกจ้างพักก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาไม่น้อยกว่า 20 นาที

●วันหยุด

วันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์ โดยให้มีระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน สำหรับงานโรงแรม งานขนส่งงานในป่า งานในที่ทุรกันดาร หรืองานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงอาจตกลงกันสะสมและเลื่อนวันหยุดประจำ สัปดาห์ไปหยุดเมื่อใดก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

วันหยุดตามประเพณี ไม่น้อยกว่า 13 วัน/ปี โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ โดยพิจารณาจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนา หรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป

วันหยุดพักผ่อนประจำปี ไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน/ปี สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี อาจตกลงกันล่วงหน้าสะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ไปรวมหยุดในปีต่อๆ ไปได้

●การทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด

อาจให้ลูกจ้างทำได้โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราวๆ ไป อาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา และทำงานในวันหยุดได้เท่าที่จำเป็น ถ้าลักษณะหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไป ถ้าหยุดจะเสียหายแก่งาน หรือเป็นงานฉุกเฉิน หรืออาจให้ทำงานในวันหยุด สำหรับกิจการโรงแรม สถานมหรสพ งานขนส่ง ร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม และสถานพยาบาลได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน

ชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด รวมแล้วต้องไม่เกิน 36 ชม./สัปดาห์

●วันลา

วันลาป่วย ลูกจ้างลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไปนายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงได้ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบวันที่ลูกจ้างไม่อาจทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งเกิดจากการทำงานหรือวันลาเพื่อคลอดบุตรไม่ถือเป็นวันลาป่วย

●วันลากิจ

ลูกจ้างลาเพื่อกิจธุระอันจำเป็นได้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

●วันลาทำหมัน

ลูกจ้างลาเพื่อทำหมันและเนื่องจากการทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนดและออกใบรับรอง

วันลารับราชการทหาร ลูกจ้างลาเพื่อรับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบฝึกวิชาทหาร หรือทดลองความพรั่งพร้อมตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหารได้

วันลาคลอดบุตร ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ลาเพื่อคลอดบุตรได้ครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยนับรวมวันหยุด

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับข้อมูลเกี่ยวกับ “สิทธิ์ประโยชน์ที่ลูกจ้างต้องรู้” ที่เราได้นำมาฝากท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านกันในบทความข้างต้นนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกๆ ท่านกันไม่มากก้น้อยนะครับ

June Henry

Related Posts

Read also x